วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

ที่มาของเรื่อง
บทความเรื่อง โคลนติดล้อ เป็นหนังสือรวมบทความแสดงความคิด พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเอยู่หัว โดยใช้นามแฝงว่า อัศวพาหุ” พระราชนิพนธ์เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ เพื่อลงพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ไทย” และต่อมา หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์” ได้นำมาพิมพ์ลงไว้อีกครั้งหนึ่ง แบ่งเป็น ๑๒ บทดังนี้
๑. การเอาอย่างโดยไม่ตริตรอง     ๒. การทำตนให้ต่ำต้อย
๓. การบูชาหนังสือเกินเหตุ         ๔. ความนิยมเป็นเสมียน
๕. ความเห็นผิด                     ๖. ถือเกียรติไม่มีมูล
๗. ความจนไม่จริง                   ๘. แต่งงานชั่วคราว
๙. ความไม่รับผิดชอบบิดามารดา   ๑๐. การค้าหญิงสาว
๑๑. ความหยุมหยิม                 ๑๒. หลักฐานไม่มั่นคง
ประวัติผู้แต่ง

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ    ศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และศึกษาวิชาการทหารบก ที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗
เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ทรงตราพระราชบัญญัติ  ประถมศึกษา ให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ทรงตั้งกระทรวงการทหารเรือ กองเสือป่า และกองลูกเสือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรมศิลปากร โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน คลังออมสิน กรมสถิติพยากรณ์ กรมสรรพากร กรมตรวจเงินแผ่นดิน กรมมหาวิทยาลัย กรมรถไฟหลวง และเปิดเดิน รถไฟไปเชื่อมกับมลายู ตั้งสถานเสาวภาและกรมร่างกฎหมาย ทรงเปลี่ยนการใช้ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นพุทธศักราช (พ.ศ.) ทรงปลูกฝัง  ความรักชาติให้เกิดขึ้นใน  หมู่ประชาชาวไทย  ทรงเป็นศิลปิน  และส่งเสริมงานประพันธ์เป็นอย่างมาก ทรงเป็นผู้นำในการประพันธ์วรรณคดีไทย ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงเขียนหนังสือทางด้านประวัติศาสตร์ และด้านการทหารไว้เป็นจำนวนมาก ประมาณถึง ๒๐๐ เรื่อง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยใช้นามปากกามากมาย เช่น  ศรีอยุธยา  พระขรรค์เพชร อัศวพาหุ นายแก้วนายขวัญ  พันแหลม  รามกิตติ   สุครีพ  พาลี   ศรีธนญชัย  รามสูร  วชิราวุธ สุริยงส่องฟ้า  อัญชัญ  น้อยลา  พันตา  หนานเเก้วเมืองบูน  นักเรียนคนหนึ่ง  นักเรียนเก่า  พรานบุญ  เสือเหลือง  เลขานุการ  จุลสมิต  มหาสมิต  วรสมิต  วิริยะสมิต โสตสมิธ  วรรณสมิต  วิภาสมิต  บรรณาธิการ  ดุสิตสมิต  อัศวพาหุ  พระขรรค์เพชร  ไก่เขียว  รามจิตติ  พระขรรค์เพชร  น้อยลา  สุครีพ
พระองค์ได้รับ ถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย
ลักษณะคำประพันธ์
เป็นบทความร้อยแก้ว แสดงคามคิดเห็นเกี่ยวกับค่านิยมของคนไทยที่นิยมอาชีพเป็นเสมียน

เนื้อเรื่อง ตอนที่ ๔ ความนิยมเป็นเสมียน
เสมียนคือผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือ ผู้มีการศึกษานั้นนิยมเป็นเสมียน คือนิยมเข้ารับราชการผู้ที่เป็นเสมียนจึงไม่สนใจกลับไปทำการเกษตรในภูมิลำเนาของตนซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าผู้ที่เป็นเสมียนจึงนิยมใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ บุคคลเหล่านี้เห็นว่าการทำงานอย่างอื่นไม่สมเกียรติยศของตนเองเพราะคนที่ได้รับการศึกษาไม่ควรเสียเวลาไปทำงานที่คนไม่รู้หนังสือก็ทำได้คนจำพวกนี้จึงยอมทนใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งที่เงินเดือนไม่มากแต่ก็จับจ่ายใช้ทรัพย์เพื่อการต่าง ๆ เช่น นุ่งผ้าม่วงสี ดูหนัง กินข้าว ตามร้านอาหารถ้าคนเรายังมีค่านิยมเห็นว่าการเป็นเสมียนมีศักดิ์ศรีสูงกว่าการเป็นชาวนา ชาวสวน หรือพ่อค้า คนก็มักจะใฝ่ทะเยอทะยานอยากเป็นเสมียนเมื่อกระทรวงทบวงการคัดเลือกเสมียนที่มีมากเกินความจำเป็นออกบุคคลเหล่านี้จะไม่สามารถไปทำงานอื่นได้ เพราะเคยเป็นเสมียนมานานผู้ที่เป็นเสมียนไม่อาจไปเป็นชาวนาได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่นเห็นว่าไม่สมเกียรติของตน ไม่อาจไปอยู่ตามบ้านนอกได้ ดังนั้นจึงคงอยู่ในเมืองเพื่อหาตำแหน่งเสมียนต่อไป อายุมากขึ้นโอกาสยิ่งน้อยลง
ในตอนท้ายของบทความจบด้วยคำถามกระตุ้นให้คิดว่า สมควรหรือไม่ที่จะเปลี่ยนค่านิยมในการเป็นเสมียนแล้วหันไปทำงานอื่น ๆ ที่ทำประโยชน์ได้ดีกว่าการเป็นเสมียน
คุณค่าของเรื่อง
๑. เป็นตัวอย่างของบทความที่ดี
๒. เสนอข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาของบ้านเมืองในเรื่องค่านิยมที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศให้เจริญ
๓. ให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์ว่าอาชีพอื่นก็สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้
            คุณค่าด้านเนื้อหา
๑) รูปแบบ  บทความเรื่องโคลนติดล้อ  ตอน  ความนิยมเป็นเสมียนเป็นงานเขียนประเภทร้อยแก้วที่ให้ทั้งความรู้และความคิด  มีเนื้อหาสร้างสรรค์ทรงคุณค่า  ซึ่งเป็นการใช้รูปแบบงานเขีนได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหา
๒)  องค์ประกอบของเรื่อง
       ๒.๑  สาระ  เป็นการแสดงความคิดเรื่องค่านิยมเกี่นวกับอาชีพที่คนทั่วไปมักนิยมยกย่องข้าราชการ  และผู้ที่ทำงานในสำนักงาน  จนมองข้ามความสำคัญของอาชีพอื่น  เหมือนโคลนติดล้อรถ
        ๒.๒  โครงเรื่อง  บทความเรื่องโคลนติดล้อ  ตอน  ความนิยมเป็นเสมียน  เป็นร้อยแก้วแสดงความคิดเห็น  ที่มีองค์ประกอบของบทความครบทั้ง  ๓  ส่วน  คือ
         ส่วนนำ  :  มีการใช้ข้อความที่ต่อเนื่องจากบทที่  ๓  เรื่องการบูชาหนังสือจนเกินเหตุ  ดังนั้น ผู้อ่านบทความโคลนติดล้อที่ลงพิมพ์อย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์สยามออฟเซอร์เวอร์  จะเห็นการเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหาที่พระองค์ทรงเปิดประเด็นมุมมองถึงความเสียหายที่จะตามมาของผู้ที่รับการศึกษาในระบบโรงเรียนมีมากขึ้น
         ส่วนเนื้อเรื่อง  :  มีการแบ่งออกเป็นย่อหน้าทั้งหมด  ๗  ย่อหน้า  แต่ละเรื่องโยงกันเป็นลำดับ  ตั้งแต่การตั้งความหวังในอนาคตเมื่อเรียนจบ  โดยลืมพื้นความหลังทางวัฒนธรรมว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม  แต่ละย่อหน้ามีการอธิบายและการยกตัวอย่างชัดเจน
          ส่วนสรุป  :  ผู้เขียนได้กล่าวถึงหนทางการแก้ปัญหา  และใช้กลวิธีในการปิดเรื่องโดยใช้คำถามในบรรทัดสุดท้ายว่า  เพราะฉะนั้นท่านจะไม่ช่วยกันบ้างหรือ
กลวิธีในการแต่ง  บทความเรื่องโคลนติดล้อ  ตอน ความนิยมเป็นเสมีียน  ผู้ประพันธ์มีกลวิธีการเขียนที่ชวนอ่าน  น่าติดตาม  มีการลำดับเนื้อหาเป็นขั้นตอน  อ่านเข้าใจง่าย  โดยแบ่งย่อหน้ายาวสั้นสลับกันไป  รวม  ๑๑  ย่อหน้า  แต่ละย่อหน้าทีประเด็นสำคัญ  มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ  และมีการนำเสนอต่อเนื่องสัมพันธ์กันอย่างดี  เริ่มต้นจากคำนำที่จูงใจให้ผู้อ่านสนใจติดตาม  โดยการนำเสนอปัญหาที่เกิดจากการให้การศึกษาแก่ประชาชน  ซึ่งผู้ประพันธ์แสดงความคิดเห็นว่า  "ให้ผลเป็นที่น่ารำคาญ"  ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจติดตามหาคำตอบไม่ว่าปัญหานั้นคืออะไรในส่วนของเนื้อหาที่นำเสนอแต่ละย่อหน้า  ผู้ประพันธ์ไดอธิบายเนื้อหา  ความสำคัญ  แสดงเหตุผล  ใช้ตัวอย่างประกอบได้อย่างชัดเจน  บางครั้งมีการกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดโดยใช้คำถามให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อ  นับเป็นวิธีการประพันธ์ที่มีคุณค่า  ใช้เป็นแบบอย่างขอองบทความแสดงความคิดเห็นได้เป็นอย่างดี
๓) แนวคิดของผู้เขียน
       ๑)  ความหมายของคำว่าเสมียน  การเป็นเสมียนความหมายของผู้เขียน  หมายถึง  อาชีพที่ทำงานในบริษัท    สำนักงาน  ทั้งเอกชนและของรัฐบาล  เป็นผู้ที่ได้รับเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือน
        ๒)  ทุกอาชีพมีความสำคัญเหมือนกัน  อาชีพทุกอาชีพเป็นอาชีพที่มีเกียรติยศเท่าๆ กัน  สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้เหมือนกัน
        ๓)  ความนิยมเป็นเสมียน  ความนิยมเป็นเสมียนเปรียบเหมือนโคลนอีกก้อนที่ติดล้อรถ  เป็นตัวถ่วงความเจริญ  เพราะค่านิยมของคนที่เห็นอาชีพเสมียนเป็นอาชีพที่มีเกียรติกว่าอาชีพอื่นๆ  ในสังคม  ทำให้ผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนมากมายึดติดอยู่กับตำแหน่ง  ยศศักดิ์  ทั้งๆ ที่ถ้าไปประกอบอาชีพอื่นจะได้ประโยชน์มากกว่า
         ๔)  การใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ  ผู้ที่นิยมเป็นเสมียนในยุคสมัยนั้น  มักมีฐานะความเป็นอยู่ที่เกินฐานะ  โดยเฉพาะการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อรักษาเกียรติยศและหน้าตาของตน
      ๕)  ความสำคัญของการเกษตร  ชาวไร่  ชาวนา  ชาวสวน  เป็นผู้ผลิต  มีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศเกษตรกรรมแบบไทย
          ๖)  การมองข้ามความสำคัญของท้องถิ่น  ชายหนุ่มที่เข้ามาทำงานในเมืองมักลืมถิ่นฐานบ้านเกิด ไม่ยอมกลับไปทำงานในภูมิลำเนาของตน
           ๗)  ค่านิยมเกี่ยวกับอาชีพ  คนทั่วไปมักยกย่องข้าราชการและผู้ที่ทำงานในสำนักงาน  จนมองข้ามความสำคัญของอาชีพอื่น
           ๘)  อิทธิพลของสื่อมวลชน  สื่อมวลชนและสาธารณชนมีอิทธิพลอย่างมากในการเผยแพร่ความคิด  โดยการยกย่องให้เกียรติชาวนาจะทำให้เกิดกระแสของคนทั่วไปตามมา
            ๙)  ความไม่มั่นคงในอาชีพทำให้เกิดปัญหาในสังคมตามมา  ผู้ที่ต้องออกจากอาชีพที่ตนทำเมื่ออายุมากขึ้น  มักถูกชักจูงให้ประพฤติทุจริตได้ง่ายเมื่อจับแนวคิดของผู้เขียนได้ดังกล่าวแล้ว  จะต้องหาเหตุประกอบการพิจารณา  ได้แก่สภาพของสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่  ๖
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
๑. การสรรคำ  ในแง่ของศิลปะการประพันธ์  ทรงพระราชนิพนธ์โดยสำนวนภาษาที่เรียบง่าย  แต่แฝงไว้ด้วยศิลปะการใช้ภาษา  ทำให้บทความน่าอ่านและน่าติดตามดังต่อไปนี้
    ๑.๑ ใช้ถ้อยคำเรียบง่าย  สื่อความตรงไปตรงมา มีการใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษบ้างดังตัวอย่าง
      “..เด็กทุก ๆ คนซึ่งเล่าเรียนสำเร็จออกมาจากโรงเรียนล้วนแต่มีความหวังฝังอยู่ว่าจะได้มาเป็นเสมียน หรือเป็นเลขานุการ และจะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งขึ้นเร็ว ๆ เป็นลำดับไป เด็กที่ออกมาจากโรงเรียนเหล่านี้ย่อมเห็นว่ากิจการอย่างอื่นไม่สมเกียรติยศนอกจากการเป็นเสมียน ข้าพเจ้าเองได้เคยพบเห็นพวกหนุ่ม ๆ ชนิดนี้หลายคนเป็นคนฉลาดและว่องไว และถ้าหากเขาทั้งหลายนั้นไม่มีความกระหายจะทำงานอย่างที่พวกเขาเรียกกันว่า "งานออฟฟิศ" มากีดขวางอยู่แล้ว เขาก็อาจจะทำประโยชน์ได้มาก..
๑.๒ การซ้ำคำ  เพื่อเน้นย้ำแสดงความหนักแน่นของความ  ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตาม  เช่น
 “ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครรัก ไม่มีใครอาลัย เป็นการลงเอยอย่างมืดแห่งชีวิตที่มืดไม่มีสาระ
๑.๓  การใช้โวหาร  ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น  เช่น  ชื่อเรื่องบทความ  โคลนติล้อ”  เป็นการใช้โวหารภาพพจน์แบบอุปลักษณ์  โคลนหมายถึง  ปัญหาและอุปสรรคที่กีดขวางความเจริญของประเทศชาติเหมือนโคลนที่ติดล้อรถทำให้รถเคลื่อนไปได้ไม่สะดวก
นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาพพจน์แบบอุปมา  เป็นการใช้ความเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกคล้อยตามและเห็นด้วย  ดังตอนที่กล่าวถึงผู้นิยมความเป็นเสมียนว่า “..ถ้าจะเปรียบพืชที่เขาได้ทำให้งอกต้องนับว่าน้อยกว่าผลที่เขาได้กินเข้าไป ..
คุณค่าด้านสังคม
      ๑. สะท้อนภาพชีวิตและค่านิยมของสังคมไทยในอดีต  เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทความแล้ว  จะมองเห็นภาพสังคมและค่านิยมของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้เป็นอย่างดี  เช่น  ค่านิยมที่ยกย่องคนรับราชการ  ทำให้ผู้มีการศึกษาชีชีวิตอยู่ในเมืองหลวง  ไม่กลับไปประกอบอาชีพในภูมิละเนาของตน  ดังตัวอย่าง
      “..เขาตอบว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับความศึกษามาจากโรงเรียนแล้ว ไม่ควรจะเสียเวลาไปทำงานชนิดซึ่งคนที่ไม่รู้หนังสือก็ทำได้ และเพราะเขาไม่อยากจะลืมวิชาที่เขาได้เรียนรู้มาจากโรงเรียนนั้นด้วย เพราะเหตุนี้เขาสู้สมัคร อดอยากอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เงินเดือนเพียงเดือนละ ๑๕ บาทหรือ ๒๐ บาท ยิ่งกว่าที่จะกลับไปประกอบการเพื่อเพิ่มพูนความสมบูรณ์แห่งประเทศในภูมิลำเนาเดิมของเขา..
       ค่านิยมผิดๆ  ของผู้ที่นิยมเป็นเสมียน  ซึ่งส่งผลให้ต้องอดทนต่อความลำบาก  เพราะต้องใช้ความเป็นอยู่แบบเกินฐานะใช้จ่ายอย่างสุรุ่นสุร่าย  เพื่อรักษาเกียรติและหน้าตาของคน  ดังตัวอย่าง
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อีสาน ชนบท    “..ในเงินเดือน ๑๕ บาทนี้พ่อเสมียนยังอุตส่าห์จำหน่ายจ่ายทรัพย์ได้ต่าง ๆ เช่นนุ่งผ้าม่วงสี ใส่เสื้อขาว สวมหมวกสักหลาด และในเวลาที่กลับจากออฟฟิศแล้วก็ต้องสวมกางเกงแพรจีนด้วย และจะต้องไปดูหนังอีกอาทิตย์ละ ๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย..
        ๒. ทราบปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในอดีต  บทความนี้ทำให้เราทราบว่าสมัยรัชกาลที่  ๖  ปัญหาที่คอบขัดขวางถ่วงความเจริญของบ้านเมืองในขณะนั้นว่ามีอะไรบ้าง  เช่น  การเชื่อถือข้อความทางหนังสือพิมพ์ที่ยังไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง  ชายหนุ่มที่เข้ามาทำงานในเมืองแล้วไม่กลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนาของตน
       ๓. สะท้อนข้อคิดที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต  บทความเรื่องโคลนติดล้อ ให้ข้อคิดแก่คนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดีว่า  ไม่ควรลืมรากฐานของตนเอง  ไม่ดูถูกอาชีพเกษตรกรรม  ไม่ควรใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเกินรายและฐานะทางเศรษฐกิจของตนและที่สำคัญควรรู้จักใช้ความรู้ความสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างเต็มที่  ซึ่งข้อคิดนี้ยังไม่ล้าสมัยสามารถนำไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน
       การนำข้อคิดจากบทความเรื่อง  โคลนติดล้อไปใช้ในชีวิตประจำวันจึงเป็นการเปลี่ยนโลกทัศน์และแนวคิดแบบใหม่  ซึ่งถ้าผู้อ่านเห็นด้วย  คนไทยก็จะไม่ทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยที่เคยเป็นมา  และควรส่งเสริมให้เยาชนไทยในสมัยปัจจุบันไม่ให้ลืมถิ่นกำเนิดของตนและต้องสนับสุนนให้ผู้มีความรู้ความสามารถกลับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นิทานพื้นบ้าน