วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561

โวหารภาพพจน์

โวหารภาพพจน์

           ภาพพจน์หรือโวหารภาพพจน์ (figure  of  speech)  เป็นกลวิธีทางภาษาที่มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งทั้งความหมายนัยตรงและนัยแฝงเร้น เน้นให้เกิดทั้งอรรถรสและสุนทรียรสในการสื่อสาร อันเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งทางวรรณศิลป์

.ความสำคัญของภาษาภาพพจน์


                   ภาษาภาพพจน์ช่วยเสริมให้สำนวนโวหารดีขึ้นเกิดภาพในใจชัดเจน  โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรม  จะเกิดรูปธรรมที่แจ่มชัด  เช่น  “ไวเหมือนปรอท  อืดเป็นเรือเกลือ  ฉันรักเธอเท่าฟ้า  ขาวราวสำลี  เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  อดเปรี้ยวไว้กินหวาน  สวยเหมือนนางละคร  ฯลฯ

๒.จุดประสงค์ของการใช้ภาพพจน์

          ๒.๑ ภาพพจน์ให้ความสำเริงอารมณ์  หมายถึงภาพพจน์บันดาลให้ผู้อ่านผู้ฟังได้ใช้ความคิดและจินตนาการ  ซึ่งอาจเปรียบได้กับการที่เราได้ก้าวออกจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง  มีความเคลื่อนไหวตื่นตัว  ไม่เฉยชาซึมเซาในระหว่างติดตามอ่าน  ได้สังเกตพิจารณาเห็นสิ่งที่เหมือนกันและสิ่งที่ต่างกัน  ดังเช่นเราตั้งชื่อสิ่งต่างๆด้วยการเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนหรือสิ่งที่ต่าง  โดยใช้การสังเกต  ความคิด  และจินตนาการเทียบเคียง
                 ๒.๒  ภาพพจน์ทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมขึ้น  การใช้ภาพพจน์เป็นการช่วยผู้อ่านนึกเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น  ซึ่งเท่ากับว่าทำให้วรรณคดีเข้าสู่ประสาทสัมผัสและการรับรู้โดยตรง  อาจจะโดยการได้ยิน  ได้เห็น  ได้สัมผัส  ฯลฯ  ได้ร่วมมีประสบการณ์  จึงทำให้เข้าถึงและเข้าใจวรรณคดีเรื่องนั้นๆได้ดียิ่งขึ้น
                 ๒.๓  ภาพพจน์ให้ความเข้มข้นทางอารมณ์มากขึ้น  ด้วยการให้ความแตกต่าง  ความขัดแย้ง  ความเหมือน  ความผสาน  และทัศนคติที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด
             ๒.๔ ภาพพจน์ช่วยให้กล่าวคำน้อยแต่ได้ความมาก  ทั้งนี้ด้วยลักษณะการบังคับทางฉันทลักษณ์  ที่กำหนดจำนวนคำ  สัมผัส  คำครุ-คำลหุ  ดังนั้นกวีจึงต้องสรรคำมาใช้ให้สามารถลงในตำแหน่งนั้นอย่างเหมาะสม  ขณะเดียวกันก็ต้องได้เนื้อความหรือความหมายตามที่ต้องการด้วย  เพื่อให้สามารถสื่อความและสื่ออารมณ์ได้

๓.ชนิดของภาพพจน์

          ๓.๑ อุปมา( Simile)  คือ การเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายกับอีกสิ่งหนึ่งโดยมีคำเชื่อมดังนี้  คือ เหมือน  เสมือน  เหมือนดั่ง  ดุจ  ประดุจ  ประหนึ่ง  ละม้าย  เสมอ  ปาน  เพียง  ราว  ราวกับ  เทียบ  เทียม  คือ  ฯลฯ

ตัวอย่าง

แล้วว่าอนิจจาความรัก                 พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป                      ไหนเลยจะไหลคืนมา
                                                                (อิเหนา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด             งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
            พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา                     ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
            คิ้วก่งดังกงเขาดีดฝ้าย                             จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
            หูกลวงดวงพักตร์หักงอ                             ลำคอโตตันสั้นกลม
                                                                        (ระเด่นลันได :พระมหามนตรี (ทรัพย์))

.๒ อุปลักษณ์  (Metaphor) คือ การเปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งว่ามีคุณสมบัติร่วมหรือเช่นเดียวกับอีกสิ่งหนึ่ง  การใช้โวหารภาพพจน์ชนิดนี้อาจใช้คำเปรียบ  เป็น  คือ  เท่า  เท่ากับ  หรือไม่มีคำเปรียบก็ได้

ตัวอย่าง
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก            แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
ถึงเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย                      เจ็บเจียรตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
                                                (เพลงยาวถวายโอวาท : สุนทรภู่)

จะว่าขมอะไรในพิภพ                               ไม่อาจลบบอระเพ็ดที่เข็ดขม
                        ถึงดาบคมก็ไม่สู้คารมคม                                      จะว่าลมปากนั้นมากแรง
                                                                                    (นิราศเดือน นายมี)

                                    เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ                                  เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
                        ใครต้องข้องจิตต์ชาย                                         ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
                        ปลาเสือเหลือที่ตา                                                เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
                        เหมือนตาสุดาดวง                                               ดูแหลมล้ำขำเพราะคม
                                                                                    (กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์)

๓.๓  ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์ (Paradox) คือ การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
                       
ตัวอย่าง
                                    เปล่าเปลี่ยวเหี่ยวอกโอ้                               โอ๋อก
                        หนาวจิตคืออุทก                                                    สะทกสะท้อน
คิดโฉมประโลมกก                                                กอดอุ่น
กายแม่เย็นยามร้อน                                              อุ่นเนื้อยามหนาว
                                                            (นิทานเวตาล น.ม.ส.)

เธอตายเพื่อจะปลุกให้คนตื่น                   เธอตายเพื่อผู้อื่นนับหมื่นแสน
เธอเป็นดินก้อนเดียวในดินแดน                          แต่จะหนักและจะแน่นเต็มแผ่นดิน 
                                                (กระทุ่มแบน เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์)

.๔  อติพจน์  หรือ  อธิพจน์  (Hyperbole) คือ ภาษาภาพพจน์ที่กล่าวเกินจริงอาจมากหรือน้อยเกินจริงก็ได้

            ตัวอย่าง
                                  
                                    เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม                                 ถึงพรหม
                        พาเทพเจ้าตกจม                                                 จ่อมม้วย
                        พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม                                          ทบท่าว  ลงนา
                        หากอักนิฏฐ์พรหมฉ้วย                                         พี่ไว้จึงคง
                                                                                    (โคลงเบ็ดเตล็ด ศรีปราชญ์ )

ตราบขุนคิริขัน                                        ขาดสลาย  ลงแม่
รักบ่หายตราบหาย                                               หกฟ้า
สุริยจันทรขจาย                                                   จากโลก  ไปฤา
ไฟแล่นล้างสี่หล้า                                                  ห่อนล้างอาลั
                                             (นิราศนรินทร์ : นรินทรธิเบศร์)

เวหาผผ่าวเพี้ยง                                      พันแสง ส่องเอย
                        เรียมรัญจวนใจจอม                                             จิ่มหล้า
                        อาดูรคระแลงแสดง                                              แสนโศก
                        แสนสุเมรุไหม้ฟ้า                                                  ไป่ปาน
                                                                                    (ทวาทศมาสโคลงดั้น)

.๕  บุคลาธิษฐาน (Personification) คือ การที่กล่าวถึงสิ่งไม่มีชีวิต  ไม่มีวิญญาณ  ไม่มีความคิด  ให้เป็นเสมือนมีชีวิต  มีจิตวิญาณ  มีความคิด  มีความรู้สึกต่างๆ  แล้วสื่อความรู้สึกออกมาให้ผู้รับสารได้รู้

                        ตัวอย่าง
 ทั้งคลื่นซ้ำน้ำซัดให้ปัดปั่น                         โอ้แต่ชั้นคลื่นลมยังข่มเหง
                        น่าอายเพื่อนเหมือนคำเขาทำเพลง                   มาเท้งเต้งเรือลอยน่าน้อยใจ
                                                                                    (นิราศเมืองเพชร สุนทรภู่)

                                    ลำดวนจะด่วนไปก่อนแล้ว                        ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
                        จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี                                   จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ
                        ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม                                  จะพลอยตอมเหือดสิ้นกลิ่นตลบ
                        ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ                                  จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป
                                                                                    (ขุนช้างขุนแผน)

๓.๖  สัญลักษณ์ (Symbol)  คือ  การเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป     



                            ตัวอย่าง

                  สิงโต               แทน               กำลังและความกล้าหาญ

                  แก้ว                 แทน               ความดีงาม  ของมีค่า

                  แพะ                 แทน               ตัณหาราคะ
                  ดอกไม้            แทน               ผู้หญิง
                  ลา                   แทน               คนโง่
                  เมฆหมอก         แทน              อุปสรรค
                  ดอกมะลิ           แทน              ความบริสุทธิ์
                  แสงสว่าง          แทน              สติปัญญา
                  สุนัขจิ้งจอก       แทน              คนเจ้าเล่ห์
                  นกพิราบ           แทน              สันติภาพ
                  รุ้ง                    แทน              พลัง  ความหวัง  กำลังใจ       

๓.๗  นามนัย  (Metonymy)  คือ  การใช้คำอื่นเรียกชื่อสิ่งหนึ่งแทนการเรียกตรงๆ  คล้ายๆสัญลักษณ์แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าวให้หมายถึงส่วนทั้งหมด  หรือใช้ชื่อส่วนประกอบสำคัญของสิ่งนั้นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด
 ตัวอย่าง
                        
                   เก้าอี้                      แทน                 ตำแหน่ง
                   หัวโขน                   แทน                 บทบาท  ตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
                   รากหญ้า                แทน                  ประชาชนระดับล่าง
                   ดงขมิ้น                  แทน                  พระ   เณร
                   หมู                        แทน                  ง่าย
                   เมืองโอ่ง                แทน                  จังหวัดราชบุรี
                   เมืองย่าโม              แทน                  จังหวัดนครราชสีมา
๓.๘สัทพจน์ (Onematoboeia) คือ  การเลียนเสียงธรรมชาติ  หรือ  แสดงอาการต่างๆ  ตามธรรมชาติการใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริงๆ

                         ตัวอย่าง



                             เสียงกรอดเกรียดเขียดกบเข้าขบเคี้ยว        
เหมือนกรับเกรี้ยวกรอดกรีดวะหวีดเสียง
หริ่งหริ่งแหร่แม่หม่ายลองไนเรียง
แซ่สำเนียงหนาวในใจรำจวน
                                                            (นิราชเมืองเพชร สุนทรภู่)

            ฝนตกห่าใหญ่ใส่ซู่ซู่
ท่วมคูท่วมหนองออกนองเจิ่ง
คางคกขึ้นกระโดดโลดลองเชิง
อึ่งอ่างเริงร่าร้องแล้วพองคอ
                                                (ระเด่นลันได :พระมหามนตรี (ทรัพย์))


    “พวกเหล่าสังคีตนี่ก็มาดีดสีตีระงม  ทั้งโทนทับรับจังหวะโจ๋งจะจิ๊งจั๋งโจ๋ง ๆ ทั่ง ๆ บัณเฑาะดีดสายพิณดังฟังวิเวกแว่ว  รัวระนาดแก้วแจ้วใจจริง  ทุระหร่างทุระหริงฉิ่งฉั่งฉ่างฉับ  ฆ้องวงก็รับถิ่งนังโหน่งเหน่ง   กระจับปี่ก็รี่เร่งเร็ว ๆ ๆ  เร่งระนาดก็กราเกร่งบรรเลงลอยว่านอระน้อด ๆ นอง   ฆ้องใหญ่ใส่เต่งเต้งทิงนังเหน่ง ๆ หนอด   ฆ้องเล็กก็ลอดหน่อระหนอด ๆ หน่อง   รัวระนาดทองทุระหริ่ง ๆ  หริง ๆ   ระนาดทุ้มทุม ๆ ทิงทุมทิงเท่ง   ระนาดไม้เร่งรอปร๋อ ๆ ปรูด ๆ หนอง ๆ หนูดปรูดปร๋อปร๋อย”      
                                                                        (ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราช)


อ้างอิง: https://sites.google.com/a/saschool.ac.th/ajeeporn-thai/phasa-thiy-m-4
น.ส.กมลลักษณ์ ชำนาญ เลขที่ ๑๓ ชั้นม.๕/๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นิทานพื้นบ้าน