วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การเขียนเรียงความ

การเขียนเรียงความ

เรียงความ 

       คือการนำเอาคำมาประกอบแต่งเป็นเรื่องราวอาจใช้วิธีการเขียนหรือการพูด ก็ได้ การเขียน จดหมาย รายงาน ตอบคำถาม ข่าว บทความ ฯลฯ อาศัยเรียงความเป็นพื้นฐาน ทั้งนั้น ดังนั้น การเขียนเรียงความจึงมีความสำคัญ ช่วยให้พูดหรือเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ก่อนเรียงเขียนความเราต้องค้นคว้า รวบรวมความรู้ ความคิด และนำมาจัดเป็นระเบียบ จึงเท่ากับเป็นการฝึกสิ่งเหล่านี้ให้กับตนเองได้อย่างดีอีกด้วย  ซึ่งเรียงความที่ดีจะต้องมี
  • เอกภาพ       คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายความว่าไม่ให้เขียนนอกเรื่องเด็ดขาด
  • สัมพันธภาพ คือ ความสัมพันธ์กัน หมายถึง ข้อความแต่ละข้อความหรือแต่ละย่อหน้าจะต้องมี                          ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน
  • สารัตถภาพ  คือ การเน้นสาระสำคัญของย่อหน้าแต่ละย่อหน้า และของเรื่องทั้งหมด โดยใช้                            ประโยคสั้น ๆ สรุปกินความทั้งหมด


องค์ประกอบของเรียงความ

      ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
        1. คำนำ เป็นส่วนเริ่มต้นของเรียงความ นำหน้าที่นำเกริ่นเข้าสู่เนื้อเรื่องและปูพื้นฐานความเข้าใจให้แก่ผู้อ่าน คำนำควรมีใจความรวบรัดไม่เยิ่นเย้อ และไม่ควรซ้ำกับส่วนสรุปเพราะคำนำจะช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจด้วยเนื้อเรื่องของเรียงความ  การเขียนส่วนนำเพื่อเร้าความสนใจนั้นมีหลายวิธี แล้วแต่ผู้เขียนจะเลือกตามความเหมาะสม อาจนำด้วยปัญหาเร่งด่วน หรือหัวข้อที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คำถาม การเล่าเรื่องที่จะเขียน การยกคำพูด ข้อความ หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ บทร้อยกรอง การอธิบายความเป็นมาของเรื่อง การบอกจุดประสงค์ของการเขียน การให้คำจำกัดความ ของคำสำคัญของเรื่องที่จะเขียน  แรงบันดาลใจ 
        2. เนื้อเรื่อง  เป็นข้อความต่อจากคำนำ ทำหน้าที่ขยายใจความของคำนำให้ละเอียดแจ่มแจ้ง ย่อหน้าเนื้อเรื่องอาจมีได้หลายย่อหน้า มากน้อยสุดแต่เนื้อเรื่อง ในการเขียนเรียงความโดยทั่วไปควรกำหนดจุดประสงค์ในการเขียน เพื่อช่วยให้กำหนดขอบเขตของหัวข้อเรียงความให้ชัดเจน นอกจากนี้ก่อนลงมือเขียนควรมีการวางโครงเรื่อง เพื่อช่วยให้เนื้อหาเรียงความมีเอกภาพไม่ออกนอกเรื่องและสามารถนำเสนอความคิดได้เป็นลำดับ ไม่สับสน
        3. สรุป   ส่วนท้ายหรือส่วนสรุป ส่วนปิดเรื่องเป็นส่วนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหา
ส่วนอื่น ๆ โดยตลอด และเป็นส่วนที่บอกผู้อ่านว่าเรื่องราวที่เสนอมานั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว วิธีการเขียนส่วนท้ายมีด้วยกันหลายวิธี เช่น เน้นย้ำประเด็นหลัก เสนอคำถามหรือข้อคิด สรุปเรื่อง เสนอความคิดของผู้เขียน ขยายจุดประสงค์ของผู้เขียน หรือสรุปด้วยสุภาษิต คำคม สำนวนโวหาร คำพังเพยอ้างคำพูดของบุคคล อ้างทฤษฎี หลักศาสนา หรือคำสอนและ บทร้อยกรอง ฯลฯ

จุดประสงค์ของการเขียนเรียงความ 

          1. เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เชื่อถือหรือคล้อยตามแนวคิดของผู้เขียน
       2. เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน
       3. เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน
       4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านใช้ความคิดของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

โวหารในการเขียน

            โวหาร หมายถึง วิธีการเขียนเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง โวหารที่ใช้ในการเขียนเรียงความ ได้แก่ พรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร อุปมาโวหาร เทศนาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหารและอธิบายโวหาร
        1.  พรรณนาโวหาร หมายถึง การเรียบเรียงข้อความโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล สิ่งของ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ตลอดจนความรู้สึกต่างๆของผู้เขียน โดยเน้นให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน

        2.  บรรยายโวหาร หมายถึง การเขียนอธิบายหรือบรรยายเหตุการณ์ที่เป้ฯข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ เป็นการเขียนตรงไปตรงมา ไม่เยิ่นเย้อ มุ่งความชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความเข้าใจ เช่น การเขียนเล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ การเขียนรายงาน เขียนตำราและเขียนบทความ

        3.  อุปมาโวหาร หมายถึง  การเขียนเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการเปรียบเทียบสิ่งของที่เหมือนกัน เปรียบเทียบโดยโยงความคิดไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง หรือเปรียบเทียบข้อความตรงกันข้ามหรือข้อความที่ขัดแย้งกัน
        4.  เทศนาโวหาร หมายถึง การเขียนอธิบาย ชี้แจงให้ผู้อ่านเข้าใจ ชี้ให้เห็นประโยชน์หรือโทษของเรื่องที่กล่าวถึง เป็นการชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม เห็นด้วยหรือเพื่อแนะนำสั่งสอนปลุกใจหรือเพื่อให้ข้อคิดคติเตือนใจผู้อ่าน
       5.  สาธกโวหาร หมายถึง การหยิบตัวอย่างมาอ้างอิงประกอบการอธิบายเพื่อสนับสนุนข้อความที่เขียนไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจ และเกิดความเชื่อถือ
       6.  แบบอธิบาย หมายถึง การชี้แจงให้ผู้อ่านทราบและเกิดความกระจ่างแจ่มแจ้งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น การอธิบายโทษของยาเสพติด วิธีทำกับข้าว ปัญหาสังคม การจราจร คำอธิบายร้อยกรอง งานอดิเรก เป็นต้น

ข้อแนะนำในการเขียนเรียงความ

        1. เนื้อความในย่อหน้าต้องเสนอความคิดที่เป็นประเด็นเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพ และแต่ละย่อหน้าต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ เรียบเรียงตามลำดับความคิดเป็นเรื่องเดียวกัน
        2. การเตรียมความรู้และความคิดในการเขียนเรียงความ จำเป็นต้องเลือกเขียนเรียงความในเรื่องที่ตนเองมีความรู้และความสนใจ รวมทั้งมีข้อมูลในการเขียนมากที่สุด
        3. การเลือกใช้ถ้อยคำ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของเรื่องที่จะเขียน มีการใช้โวหารประกอบ ใช้ภาษาระดับทางการ ส่วนภาษาพูด คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ คำย่อไม่ควรนำมาใช้ในการเขียนเรียงความ

       4. กลไกในการเขียนเกี่ยวกับการเขียนตัวสะกดการันต์ การเว้นวรรคตอน การเรียบเรียงถ้อยคำ การใช้ภาษา การเลือกสรรคำที่เหมาะสมและถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้งานเขียนเรียงความมีความงดงามและน่าติดตามอ่านจนจบ ตัวอย่างแบบทดสอบ


อ้างอิง
https://sites.google.com/site/khwamruphasathai/home/8-kar-kheiyn-reiyng-khwam 
(วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑)
https://www.gotoknow.org/posts/399979  
(วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑)

ผู้จัดทำ
นางสาว ชลธิชา  สังข์ทอง  เลขที่ ๒๗ ม.๕/๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นิทานพื้นบ้าน