วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
ความหมายของการสื่อสาร
ความรู้พื้นฐานเรื่องการสื่อสาร

            การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต  มนุษย์จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา  การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาก   การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร  การสื่อสารมีประโยชน์ทั้งในแง่บุคคลและสังคม การสื่อสารทำให้คนมีความรู้และโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น การสื่อสารเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคม เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้มนุษย์สามารถสืบทอดพัฒนา เรียนรู้ และรับรู้วัฒนธรรมของตนเองและสังคมได้  การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ  สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ชุมชน และสังคมในทุกด้าน            
    ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)  แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. ทักษะการฟัง (Listening Skills)
      การฟัง คือ การได้รับสารที่ส่งมาและทำความเข้าใจความหมายของสารที่รับมา ได้อย่างเข้าใจตรงกัน
ความสำคัญ
           - ช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
           - ช่วยพัฒนาความรู้
           - ช่วยให้สบายใจ
           - ช่วยระบายความรู้สึก
           - ช่วยให้พูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ทักษะการอ่าน (Reading Skills)
      การอ่าน คือ การรู้ สังเกตและทำความเข้าใจความหมายของทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา
ความสำคัญ
           - ช่วยสร้างองค์ความรู้
           - ช่วยพัฒนาด้านอารมณ์
           - ช่วยส่งเสริมความคิด
           - ช่วยหาคำตอบ
3. ทักษะการพูด (Speaking Skills)
      การพูด คือ การส่งสารโดยใช้วัจนภาษาและอวัจนภาษาเพื่อให้ผู้ฟังได้รับสารแล้วเกิดความเข้าใจในสารนั้นๆ
ความสำคัญ
           - ช่วยให้ข้อมูล
           - ช่วยโน้มน้าว
           - ช่วยสร้างความบันเทิง
           - ช่วยสร้างสรรค์
           - ช่วยให้รู้สึกดี
4. ทักษะการเขียน (Writing Skills)
       การเขียน คือ การใช้ภาษาเพื่อสื่อสารถึงความรู้ ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ต่างๆ จากผู้เขียนไปยังผู้อ่าน
ความสำคัญ
            - ช่วยถ่ายทอดและบันทึกข้อมูล
            - ช่วยพัฒนาสติปัญญาและอารมณ์
            - ช่วยสร้างความเข้าใจ
            - ช่วยอธิบาย
            - ช่วยเล่าเรื่อง

               การสื่อสารที่ดี ผู้ที่สื่อสารต้องให้ความสำคัญกับผู้ฟังให้มากกว่า ตัวเราเองเพราะจุดประสงค์ของการสื่อสารคือ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจและคล้อยตามแนวความคิด ดังนั้นหากเราสื่อสารได้ตรงกับความต้องการของผู้ฟังแล้วย่อมทำให้การสื่อสารสมบูรณ์ การให้ความสำคัญในการพัฒนาตัวเองให้เป็นนักสื่อสารที่ดีควรพัฒนาทักษะดังนี้
  - การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
  - การพูดให้จูงใจผู้ฟัง
  - การรับฟังความต้องการของผู้ฟัง
  - การเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์
  - การมองผู้ฟังด้วยทัศนคติเชิงบวก       
           การพัฒนาด้านการสื่อสารกับผู้อื่นต้องคอยจับสัญญาณการเชื่อมต่อระหว่างเรากับผู้ฟังให้ได้ก่อน เพราะหากการเชื่อมต่อไม่สมบูรณ์การสื่อสารย่อมติดๆ ขัดๆ ตัวอย่างของการเชื่อมต่อ เช่น 
           ผู้ฟังให้ความสนใจ, ผู้ฟังเห็นด้วยและมีส่วนร่วม, ผู้ฟังเปิดเผยแนวความคิด 
ทักษะของการสื่อสารที่ดี ควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็จะกลายเป็นธรรมชาติในตัวเอง

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
                 นักสื่อสารจะสร้างความสัมพันธ์ก่อนการสื่อสารโดยการเข้าใจความต้องการของผู้ฟัง พูดในเรื่องที่ผู้ฟังสนใจ อยู่ในโลกของผู้ฟัง มีความรักให้กับผู้ฟัง อยากช่วยเหลือผู้ฟัง มากกว่าความต้องการของผู้สื่อสารเพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ดี และความเข้าใจในเจตนาของผู้สื่อสาร ว่าต้องการสื่อสารเพื่อจุดประสงค์ใด ถ้าผู้สื่อสารเปิดใจก่อน ก็จะได้รับการเปิดใจจากผู้ฟังเช่นเดียวกัน

การพูดให้จูงใจผู้ฟัง

             นักสื่อสารที่ดีจะเริ่มต้นการพูดน่าสนใจ มีพลังในการสื่อสารกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความกระตือรือร้นที่จะรับฟัง โดยการทำให้ผู้ฟังมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน เห็นคุณค่าและประโยชน์จะเกิดขึ้นเมื่อนำไปปฏิบัติ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้ฟังมากกว่าเรื่องของผู้สื่อสาร หากเป็นเรื่องของผู้สื่อสารก็เป็นเพียงประสบการณ์ที่อยากให้ผู้ฟังได้นำไปคิดและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟังอีกทีหนึ่ง

การรับฟังความต้องการของผู้ฟัง

         นักสื่อสารบางคนพยายามที่จะสื่อสารความต้องการของตัวเอง จนลืมทำหน้าที่รับฟัง ทำให้ผู้ฟังปิดรับการสื่อสารด้วยเช่นกัน เพราะผู้ฟังก็อยากให้ผู้สื่อสารเข้าใจความต้องการของเขาด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นนักสื่อสารที่ดีจะสนใจความต้องการของผู้ฟัง และสื่อสารข้อความหรือข้อมูลที่ตรงกับความต้องการ การสื่อสารก็จะเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ข้อมูลไม่ตกหล่น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ฟังต้องการจะรับฟังอยู่แล้ว

การเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์

           การสื่อสารที่ดีถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งผู้ฟังอยากได้รับความสนใจ อยากได้รับการยอมรับ และชอบคำชมมากกว่าคำตำหนิ หากนักสื่อสารเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของผู้ฟัง และปฏิบัติตัว ดังที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ก็จะทำให้นักสื่อสาร สามารถต่อเชื่อมกับผู้ฟังได้ง่าย และตรงตามที่ผู้ฟังต้องการ จะทำให้ข้อความหรือข้อมูล และวิธีการที่ใช้ในการสื่อสาร เหมาะสมกับผู้ฟังมากยิ่งขึ้น แต่หากนักสื่อสาร หลีกเลี่ยง หรือไม่สนใจธรรมชาติของมนุษย์ สนใจในสิ่งที่ต้องการสื่อสารเพียงอย่างเดียว ย่อมทำให้ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้ฟังเต็มประสิทธิภาพ

การมองผู้ฟังด้วยทัศนคติเชิงบวก

            การสื่อสารให้กับผู้อื่น ย่อมไม่ราบรื่นทุกครั้งไป เนื่องจากความคิดเห็นของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ภาษาที่ใช้อาจถูกตีความไปอีกแบบหนึ่งได้  ดังนั้นนักสื่อสารต้องมองผู้ฟังด้วยทัศนคติเชิงบวก ไม่ตีความด้านลบ และไม่จินตนาการไปเองว่าผู้ฟังรู้สึกอย่างไร เพราะมิเช่นนั้นนักสื่อสารก็จะใช้น้ำเสียง สีหน้า กริยา และคำพูดที่เป็นเชิงลบได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อต้านจากผู้ฟังด้วยเช่นกัน คนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นเพราะ 
     - ความเชื่อไม่เหมือนกัน 
     - ค่านิยมที่ยึดถือแตกต่างกัน 
     - ประสบการณ์ในอดีตไม่เหมือนกัน 
     - กฎ-มาตรฐานที่เกี่ยวข้องด้วยกัน

           ดังนั้นหากต้องการให้การสื่อสารสมบูรณ์และเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย นักสื่อสารควรระวังแนวความคิดที่แตกต่างกันตรงนี้ไว้ด้วย

           การพัฒนาการสื่อสารของตัวเองไม่ยาก เพราะเรามีโอกาสที่จะสื่อสารกับบุคคลทั่วๆไปอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากฝึกฝนและปรับปรุงให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆย่อมทำให้เรากลายเป็นนักสื่อสารที่ดีในอนาคตแน่นอน   “การสื่อสารที่ดี คือ ผู้ฟังได้ประโยชน์จากเรื่องที่เราสื่อสารไป”


           ในการจัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนต้องใช้ทักษะการสื่อสารหลายทักษะ
ร่วมกัน เพื่อจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่กำหนดไว้  และนอกเหนือจากการสอนแล้ว  ครูต้องทำงาน
ด้านอื่นๆ ในสถานศึกษาด้วย  จะเห็นได้ว่าการทำงานของครู จะต้องอาศัย
ทักษะการสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย "การฟัง การอ่าน การพูด และการเขียน"

1. ทักษะการฟัง (Listening Skills) ครูจะใช้เพื่อ

            - เก็บและรวบรวมข้อมูล
            - แลกเปลี่ยนข้อมูล
            - รับฟีดแบค
            - ให้เข้าใจเรื่องราว
            - เรียนรู้เรื่องราว
            - สร้างสายสัมพันธ์
            - ได้ทราบมุมมองที่แตกต่าง
            - เพื่อให้การช่วยเหลือ
            - ขจัดข้อขัดแย้ง
            - สร้างความไว้วางใจ

2. ทักษะการอ่าน (Reading Skills) ครูจะใช้เพื่อ


          - แสวงหาความรู้ ค้นหาคำตอบ
           - ตรวจสอบงานของนักเรียน
           - ทำความเข้าใจเนื้อหา
           - เพิ่มเติมองค์ความรู้
           - รับรู้วิทยาการก้าวหน้า
           - กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
           - ให้เห็นหลากหลายมุมมอง
           - เกาะติดกระแส ทันสมัยต่อเหตุการณ์
           - ฝึกทักษะการคิด
   
3. ทักษะการพูด (Speaking Skills) ครูจะใช้เมื่อ


           - ให้/ถ่ายทอด/แลกเปลี่ยนข้อมูล
           - อธิบายสร้างความกระจ่าง
           - สร้างบรรยากาศ
           - สร้างสายสัมพันธ์
           - ให้ฟีดแบค
           - ให้กำลังใจ
           - ถามกระตุ้น
           - นำเสนอมุมมองแตกต่าง
           - โน้มน้าว

4. ทักษะการเขียน (Writing Skills) ครูจะใช้เมื่อ

           - สร้างความเข้าใจและความน่าสนใจ
           - สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่น แนวคิดหลักการ องค์ความรู้ หนังสือ
           - ถ่ายทอดเรื่องราว
           - บันทึกเรื่องราว
           - เล่าเรื่อง อธิบาย
           - แสดงความคิดเห็น
           - แนะนำให้คำปรึกษา

"การสื่อสารในการเรียนการสอน"
1. กระบวนการสื่อสารในการเรียนการสอน ประกอบด้วย..
    ครู, เนื้อหาบทเรียนหรือกิจกรรมต่างๆ, ช่องทางสื่อสาร, ผู้เรียน, สิ่งรบกวน
2. ลักษณะการสื่อสารระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน เป็นการสื่อสารเพื่อให้เกิด
    ความรู้ กล่าวคือ..  เป็นการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์
    ตลอดจนการอบรมสั่งสอน อาจเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวหรือสองทาง
    ควรมีการเน้นหรือทบทวนคำสั่งหรือข้อตกลง เพื่อให้เกิดความจำ
    และความเข้าใจที่ถูกต้อง การสื่อสารควรมีลักษณะสร้างแรงบันดาลใจ
    เป็นกันเอง แสดงถึงความเอื้ออาทร และมีเจตคติที่ดีต่อกัน
3. การปรับใช้การสื่อสารกับกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ
    ครูที่มีการสื่อสารที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีความหมาย มีชีวิต
    ชีวา มีเจตคติที่ดีต่อผู้สอนและบทเรียน  เรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ ครูผู้สอนควร
    ใช้สื่อการสอนสองทางให้มากที่สุด เพื่อประเมินว่าการถ่ายทอดเนื้อหา
    สาระไปสู่ผู้เรียนได้ผลอย่างไร ครูและผู้เรียนสามารถปรับกระบวนการ
    สื่อสารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์


อ้างอิง: http://jiranuch9614.blogspot.com/
จัดทำโดย นางสาว ญาสิณี สังข์ขาว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่๕/๒ เลขที่๒๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นิทานพื้นบ้าน