วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ธรรมชาติของภาษา และ การเปลี่ยนแปลงของภาษา

ธรรมชาติของภาษา และ การเปลี่ยนแปลงของภาษา

๑. ภาษาใช้เสียงสื่อความหมาย

          ซึ่งต้องประกอบด้วยหน่วยเสียง ( เป็นหน่วยในภาษา ) และ ความหมาย  ความหมายของภาษามี ๒ อย่าง คือ

                 ๑ ) ความหมายอย่างกว้าง
                      ภาษา หมายถึง การแสดงออกเพื่อสื่อความหมายโดยมีระบบกฎเกณฑ์เข้าใจกัน
ระหว่างสองฝ่าย อาจจะเป็นการแสดงออกทางเสียง ท่าทาง หรือสัญลักษณ์ต่าง และอาจเป็นการสื่อความหมายระหว่างมนุษย์หรือระหว่างสัตว์ก็ได้

                 ๒ ) ความหมายอย่างแคบ
                       ภาษา หมายถึง ถ้อยคำที่มนุษย์ใช้สื่อความหมาย

๒. เสียงกับความหมายมีความสัมพันธ์กัน

          มีสาเหตุเกิดจากการเลียนเสียงจากธรรมชาติ เช่น

                    ๑ ) เกิดจากการเลียงเสียงจากสิ่งต่าง ๆ เช่น เพล้ง , โครม , ปัง
                    ๒ ) เกิดจากการเลียนเสียงของสัตว์ เช่น แมว , ตุ๊กแก
                    ๓ ) เกิดจากการเลียนเสียงจากสิ่งสิ่งนั้น เช่น หวูด , ออด
                    ๔ ) เกิดจากเสียงสระหรือพยัญชนะที่มีความสัมพันธ์กับความหมาย เช่น เซ , เป๋ มี
ความหมายว่า ไม่ตรง ( แต่เป็นเพียงส่วนน้อยในภาษาเท่านั้น )
                    ๕ ) ภาษาถิ่นบางถิ่นจะมีเสียงสัมพันธ์กับความหมาย เช่น สระเอาะ หรือ ออ
ภาษาถิ่นบางถิ่นจะบอกความหมายว่าเป็นขนาดเล็ก ดังเช่น จ่อว่อ หมายถึง เล็ก , โจ่โว่ หมายถึง ใหญ่

๓. เสียงกับความหมายไม่สัมพันธ์กัน

          เช่น เด็ก น้อย เดิน เสียงจะไม่สัมพันธ์กัน แต่เราก็รู้ว่า “ เด็ก ” หมายถึง คนที่มีอายุน้อย “ น้อย ” หมายถึง เล็ก และ “ เดิน ” หมายถึง การยกเท้าก้าวไป เป็นการตกลงกันของคนที่ใช้เสียงนั้น ๆ ว่าจะให้มีความหมายเป็นอย่างไร

๔. หน่วยในภาษาประกอบกันเป็นพยางค์ที่ใหญ่ขึ้น

          หน่วยในภาษา หมายถึง ส่วนประกอบของภาษา ได้แก่ เสียง คำ และประโยค ซึ่งเราสามารถนำเสียงที่มีอยู่อย่างจำกัดมาสร้างคำได้เพิ่มขึ้น และนำคำมาสร้างเป็นประโยคต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น ฉันกินข้าว อาจจะเพิ่มคำเป็น “ ฉันกินข้าวผัดกะเพรา ” เป็นต้น

๕. ภาษามีการเปลี่ยนแปลง

          การเปลี่ยนแปลงของภาษามีสาเหตุ ดังนี้
   
                   ๑ ) การพูดจาในชีวิตประจำวัน

                         –  การกร่อนเสียงพยางค์หน้า เช่น หมากขาม เป็น มะขาม สาวใภ้ เป็นสะใภ้
                         –  ตัวอัพภาส เป็นการตัดเสียง หรือ การกร่อนจากตัวที่ซ้ำกัน เช่น ยับยับ เป็น ยะยับ
วิบวิบ เป็น วะวิบ รี่รี่ เป็น ระรี่
                         –  การกลมกลืนของเสียง เช่น อย่างไร เป็น ยังไง ดิฉัน เป็น เดี๊ยน อันหนึ่ง เป็นอนึ่ง

                 ๒ ) อิทธิพลของภาษาอื่น

                      เช่น ภาษาอังกฤษจะมีอิทธิพลมากที่สุด มีการยืมคำ และประโยคมาใช้ทำให้เป็นเกิดเป็นสำนวนต่างประเทศ และมีการดัดแปลงเพื่อให้เข้ากับลักษณะภาษาไทย

                ๓ ) ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม

                     เมื่อมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น กระบวนการความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดคำศัพท์ใหม่ ๆ ตามมามากขึ้นตามยุคตามสมัยปัจจุบัน ส่วนคำที่ใช้มาแต่เดิม อาจจะสูญหายไปซึ่งคนสมัยใหม่อาจจะไม่รู้จัก เช่น ดงข้าว หรือ เกิดศัพท์ใหม่แทนของเก่า เช่น ถนน เป็น ทางด่วน บ้าน เป็น คอนโด ทาวเฮาส์
ฯลฯ

               ๔ ) การเรียนภาษาของเด็ก

                    ภาษาของเด็กเมื่อเริ่มเรียนรู้ภาษาเด็กจะปรุงเป็นภาษาของเด็กเอง ซึ่งไม่เหมือนกับภาษาของผู้ใหญ่ ใช้คำไม่ตรงกัน ออกเสียงไม่ตรงกัน ความหมายจึงไม่ตรงกับผู้ใหญ่ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะสืบทอดภาษาต่อไปได้อีกทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไปได้

๖. ลักษณะที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันของภาษา

ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

               ๑ ) ใช้เสียงสื่อความหมาย มีทั้งเสียงสระและเสียงพยัญชนะ
               ๒ ) มีการสร้างศัพท์ขึ้นใหม่ ได้แก่ คำประสม , คำซ้ำ
               ๓ ) มีสำนวน มีการใช้คำในความหมายเดียวกัน
               ๔ ) มีคำชนิดต่าง ๆ เช่น คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำขยาย
               ๕ ) สามารถขยายประโยคเพื่อให้ยาวออกไปเรื่อย ๆ ได้
               ๖ ) มีการแสดงความคิดต่าง ๆ เช่น ประโยคคำถาม ประโยคคำตอบ ประโยคปฏิเสธ
ประโยคคำสั่ง
               ๗ ) สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ลักษณะที่แตกต่างกัน

               ๑ ) เสียงในภาษาอังกฤษมีเสียง G , Z แต่ในภาษาไทยไม่มี
               ๒ ) ภาษาไทยมีวรรณยุกต์ในประโยค ส่วนภาษาอื่นไม่มี
               ๓ ) ไวยากรณ์ ภาษาไทยเรียงประโยคจาก ประธาน + กริยา + กรรม แต่ภาษาอื่นเรียง
สลับกันได้

๗. ลักษณะของภาษาในการสื่อสาร

               ๑ ) วัจนภาษา
                     คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร

               ๒ ) อวัจนภาษา
                     คือ ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่
                     –  กริยา ท่าทาง สีหน้า สายตา เสียง ( ปริภาษา )
                     –  สัญญาณ สัญลักษณ์ ( รวมถึงอักษร )
                     –  การสัมผัส ( ผัสภาษา / สัมผัสภาษา )
                     –  ลักษณะทางกายภาพ ( ภาษาวัตถุ / กายภาษา )
                     –  ระยะห่าง ( เทศภาษา )
                     –  เวลา ( กาลภาษา )
                     –  กลิ่น รส ภาพ สี ลักษณะตัวอักษร

ความสำคัญของภาษา

. ภาษาช่วยธำรงสังคม

          การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ นั้นจะมีความสุขได้ต้องรู้จักใช้ภาษาแสดงไมตรี
จิตความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน แสดงกฎเกณฑ์ทางสังคมที่จะปฏิบัติร่วมกัน การประพฤติตนให้
เหมาะสมแก่ฐานะของตนในสังคมนั้น ๆ ทำให้สามารถธำรงสังคมนั้นอยู่ได้ ไม่ปั่นป่วนและ
วุ่นวายถึงกับสลายตัวไปในที่สุด

. ภาษาแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล

          คือ แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลให้เห็นว่าบุคคลมีอุปนิสัย รสนิยม
สติปัญญาความคิดและความอ่านแตกต่างกันไป

. ภาษาช่วยพัฒนามนุษย์

          มนุษย์ใช้ภาษาในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด และประสบการณ์ให้แก่กันและกัน ทำให้
มนุษย์มีความรู้กว้างขวางมากขึ้นและเป็นรากฐานในการคิดใหม่ ๆ เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่
และสังคมมนุษย์พัฒนาเจริญขึ้นตามลำดับ

. ภาษาช่วยกำหนดอนาคต

          การใช้ภาษาในการกำหนดอนาคต เช่น การวางแผน การทำสัญญา  การพิพากษา การ
พยากรณ์ การกำหนดการต่าง ๆ

. ภาษาช่วยจรรโลงใจ

          ทำให้เกิดความชื่นบาน มนุษย์พอใจที่อยากจะได้ยินเสียงไพเราะ จึงได้มีการนำภาษาไป
เรียบเรียงเป็นคำประพันธ์ที่มีสัมผัสอันไพเราะก่อให้เกิดความชื่นบานในจิตใจ และสามารถ
เล่นความหมายของคำในภาษาควบคู่ไปกับการเล่นเสียงสัมผัสได้ จึงทำให้เกิดคำคม คำผวน
สำนวน ภาษิตและการแปลงคำขวัญ เพื่อให้เกิดสำนวนที่น่าฟัง ไพเราะและสนุกสนานไปกับ
ภาษาด้วย

อิทธิพลของภาษาต่อมนุษย์

                อิทธิพลของภาษาต่อมนุษย์ไม่ใช่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ใช้แทนสิ่งต่างๆ เท่านั้น แต่มนุษย์เชื่อว่าคำบางคำศักดิ์สิทธิ์ประกอบเป็นคาถาแล้วสามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ เช่น เชื่อว่าต้นไม้บางชนิดมีชื่อพ้องกับสิ่งมีค่ามีมงคล หรือคำบางคำใช้เรียกให้เพราะขึ้น ในขณะที่บางคำกลับเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

อ้างอิง  : https://mook5013.wordpress.com/ (วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๑)
ผู้จัดทำ : นางสาว ภูชณิษา  หนูพลัด  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕/๒ เลขที่ ๒๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นิทานพื้นบ้าน